วันนี้อ้อยหวานมาชวนไปไหว้พระและเตร็ดเตร่เที่ยวชมเมืองกรุงกันค่ะ แม้รูปภาพในบล็อคนี้จะเก่าค้างคามาเกือบปี คือถ่ายเก็บไว้ตั้งแต่กลับเมืองไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่อ้อยหวานถือคติ ‘มาสาย..ดีกว่าไม่มาเลย’
บล็อกชุดเที่ยวเมืองฟ้าอมรนี้ เราจะไม่ได้ปั่นจักรยานเที่ยว (คงจะรู้รู้กันว่าทำไม) แต่เราจะผจญภัยด้วยการโบกรถตุ๊กตุ๊กกัน
.. เตรียมพร้อม ตั้งท่า ไปเราไป ไปชมเมืองหลวงกัน
วัดแรกเลย วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร หรือ หลวงพ่อทองคำ
อ้อยหวานขอคัดลอกรายละเอียดระวัติของ หลวงพ่อทองคำ จากวิกิพิเดียมาให้อ่านพร้อมกัน
พระสุโขทัยไตรมิตรเป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และได้รับการบันทึกในหนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ พระพุทธรูปทองคำองค์นี้มีหน้าตั้งกว้าง 3.01 เมตร สูง 3.91 เมตร องค์พระสามารถถอดได้ 9 องค์ จากฐานองค์พระขึ้นไปเนื้อทองบริสุทธิ์ 40% พระพักตร์มีเนื้อทอง 80% ส่วนพระเกศมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัม เป็นเนื้อทองบริสุทธิ์ 99.99%
สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย เข้าใจว่า เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไปอัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองเหนือเพื่อนำมาประดิษฐานยังวัดสำคัญ พระพุทธรูปที่เชิญมามีจำนวนมาก ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ขุนนางผู้หนึ่งจึงแอบเอาปูนไล้พระพุทธรูปทองคำแล้วนำมาไว้ยังวัดที่ตนสร้าง จนได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดพระยาไกร (วัดโชติการาม) ต่อมาบริษัท อี๊สต์เอเชียติ๊ก ได้ขอเช่าที่วัด (ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้างแล้ว) เป็นโรงเลื่อยจักร จึงได้อัญเชิญไว้ที่ข้างพระเจดีย์และปลูกเพิงสังกะสีมุงเป็นหลังคากั้นไว้ อย่างหยาบ ๆ หลังจากนั้นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เมื่อพระอุโบสถและพระวิหารหลังใหม่สร้างเสร็จจึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน แต่ในระหว่างการเคลื่อนย้ายปูนที่หุ้มองค์พระกระเทาะออก จึงทำให้เห็นองค์พระข้างในเป็นทองคำ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498
พอย่างเข้าปลายปี 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างพระมหามณฑป พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 แทนพระพระวิหารองค์เดิม
ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย
ไหว้พระกันแล้ว ทีนี้ก็เดินกลับลงมาที่ชั้นสามของพระมหามณฑป ที่เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร ซึ่งอ้อยหวานชื่นชมว่าทำได้ดีมากๆ มีการจัดแสดงและให้ข้อมูลต่างๆ ตามมาตรฐานสากลเลยทีเดียว อธิบายละเอียดลออทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ขอชื่นชมด้วยใจจริง ใครแวะไปเที่ยวเมืองหลวง ต้องไม่พลาดชม ยิ่งถ้าพาเด็กๆ ไปด้วยก็สมควรไปชม
****คนไทยเข้าชมฟรี ต่างชาติ 140 บาท
ภายในพิพิธภัณฑ์บอกเล่าความมาของพระพุทธรูปทองคำ และให้รายละเอียดอย่างครบถ้วน ตั้งแต่กรรมวิธีการทำแม่พิมพ์ การหล่อพระ ทุกขั้นตอน
หุ่นเล่าเรื่องการอัญเชิญองค์พระ มีแสง สี เสียง ประกอบการเล่าเรื่อง
อัดแน่นด้วยข้อมูล และสนุกด้วย
ส่วนชั้นสองก็เป็นที่ตั้งของ ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวของชุมชนจีนเยาวราชและสำเพ็ง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ร้านค้าคนจีนโบราณในสำเพ็ง
บอกเล่าเรื่องราวอย่างละเอียดลออ ตั้งแต่การเดินทางของคนจีนบนเรือกลไฟ จนถึงเข้าสู่และเติบใหญ่ใต้ร่มพระบารมี
โมเดลจำลองย่านเยาวราชในสมัยก่อน
เด็กๆ มาทัศนศึกษากัน สนุกสนาน และให้ความรู้เพียบ
มีการจัดแสดงหุ่นตัวเล็กๆ น่ารักแบบนี้มากมาย เช่น ฉากร้านขายขนมจันอับ
จับอับเป็นชื่อกล่องใส่ขนมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ชื่อขนม หมายถึงกล่องใส่ขนมแห้งของจีน เอาไว้ถวายหรือไหว้เจ้าจับอับ เพี้ยนมาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน ว่า จั๊นอับ ส่วนขนมเรียกว่า แต้เหลี้ยว
ในประเทศไทยสามารถพบจันอับได้ 2 ชนิดคือ จันอับแบบแต่จิ๋ว หรือ กวางตุ้ง และ จันอับแบบฮกเกี้ยน
จันอับแบบฮกเกี้ยนจะมีเครื่องประกอบทั้งหมด 8 ชนิด แต่ละชนิดจะเป็นขนมจันอับแบบที่แต้จิ๋วไม่มี ยกเว้นฟักเชื่อม จันอับแบบฮกเกี้ยนหาทานได้ยากมาก พบได้เฉพาะที่ จังหวัดภูเก็ต เท่านั้น
จันอับแบบกวางตุ้งหรือ แต้จิ๋ว โดยรวมมีเครื่องประกอบทั้งหมด ประมาณ 5 ชนิดหลัก เป็นที่นิยมมาก
ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย
ประวัติร้านขายขนมจันอับในพิพิธภัณฑ์ ให้ความรู้อย่างสมบูรณ์และแตกฉาน
อ้อยหวานขอลงภาพตัวอย่างของหลายๆ นิทัศการที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
ร้านขายทอง
และประวัติ์ความเป็นมาของค่านิยมทอง
ก่อนลาจาก อ้อยหวานไปเจอกล้วยกอใหญ่ตรงหน้าพระมหามณฑป
กล้วยร้อยหวี หรือกล้วยงวงช้างแห่งวัดไตรมิตร
ที่นี้ก็ถึงเวลาไปชมเยาวราชของจริงกันบ้าง
ท้องถนนเยาวราชในยามเช้า
มั่งคั่ง ร่ำรวย โชคดีมีสุข
มีกิน มีใช้ อุดมสมบูรณ์ พูนสุข
นี่แหละถิ่นไทย อยู่ที่ไหนๆ ก็คิดถังจัง
โปรดติดตาม เปิดกรุภาพถ่ายเก่า พาไปชมเมืองฟ้าอมร ในตอนต่อไป
ขอให้เพื่อนๆ มีแต่ความสุข
ขอบคุณค่ะ
อ้อยหวาน