Quantcast
Channel: บล็อก อ้อยหวาน
Viewing all articles
Browse latest Browse all 244

ข้ามกำแพงเหล็ก เปิดประตูไม้ไผ่ แหวกม่านผ้าไหม ไปแอบดูจีน 4

$
0
0
หมวดหมู่ของบล็อก: 

การที่ได้ไปใช้ชีวิต กินนอนในหมู่บ้านนอกเมืองซัวเถาหรือซานโถว (Shantou) หมู่บ้านที่เป็นบ้านเกิดของพ่อ เป็นเวลาตั้งสิบกว่าวัน อ้อยหวานได้ประสบการณ์ที่มีค่าอย่างที่ไปท่องเที่ยวที่อื่นให้ไม่ได้ ได้สัมผัสกับประวัติศาสตร์ เรื่องราวของบรรพบุรุษ วัฒนธรรม ประเพณี อาหาร การกินอยู่ แม้จะพูดภาษาจีนไม่ได้ แต่ก็มีน้องคอยแปลให้ฟังอยู่ตลอด สิบกว่าวันที่เดินเที่ยวชมหมู่บ้านกับพ่อและน้อง และที่ได้เอาจักรยานออกไปซอกแซกผจญภัยอย่างไม่กลัวหลงทาง อ้อยหวานได้สัมผัสเรื่องราวมากมาย เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าใหญ่หลวง ได้รับรู้อีกเสี้ยวหนึ่งที่เป็นตัวตนของตัวเอง เพราะ ..อดีตของพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็คืออดีตของตัวเรา

 

และช่วงเวลาที่ไปที่นั่นก็เป็นช่วงเวลาที่ไม่ธรรมดาเสียด้วยสิ ก่อนไปอ้อยหวานยังแครงใจว่าทำไมพ่อเลือกไปตอนตรุษจีน คนต้องเยอะมากๆ เพราะเห็นข่าวความโกลาหลวุ่นวายของสถานีรถไฟหรือรถเมล์ในช่วงตรุษจีนอยู่ทุกปี ตามธรรมเนียมจีนที่ยึดถือกันเหนียวแน่น มาแต่ครั้งกระโน้น (ซึ่งอาจจะนานกว่าหลายร้อยๆ ปี) ก็คือ การกลับบ้านเกิดในช่วงขึ้นปีใหม่ (ตรุษจีน) นอกจากเป็นการรวมญาติแล้ว กิจกรรมที่สำคัญคือการไหว้เจ้าไหว้เทวดาและไหว้บรรพบุรุษ ในความคิดของคนจีนนั้นพิธีไหว้เจ้าและไหว้บรรพบุรุษนั้นสำคัญมากๆ เขาถือว่าทำดีหรือไม่ดีจะส่งผลนั้นๆ ให้แก่ลูกหลานเหลนในอนาคตเลยทีเดียว

 

และการฉลองตรุษจีนแท้ๆ นี้ ก็ไม่ธรรมดาเสียด้วย ต่างจากเมืองไทยที่มีเพียงสามวันคือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว ของเมืองจีนของแท้และดั้งเดิม เขาฉลองกันสิบห้าวันสิบห้าคืน

 

อ้อยหวานขอเล่าเรื่องการไหว้บรรพบุรุษก่อนเลย เพราะบรรพบุรุษจึงทำให้อ้อยหวานได้ไปที่หมู่บ้านนี้ วันที่มีการไหว้บรรพบุรุษกัน อ้อยหวานไม่ได้ถ่ายรูปเก็บไว้ เพราะในวันนั้นเกิดอาการแพ้ควันธูปขึ้นอย่างแรง แสบตาและคอมากมาย แต่จำคำถามที่ถามน้องได้ว่า  อ้าวไหว้กำแพงเปล่าๆ กันหรือ ไม่มีการติดรูปเลย แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าปรกติบ้านนี้ไม่มีคนอยู่

รูปข้างบนอ้อยหวานขอยืมจากน้องสาวมา เป็นรูปบรรพบุรุษที่ติดอยู่บนผนังบ้านของญาติที่ย้ายไปอยู่บนตึกไม่ไกลกัน  เขาติดแยกเป็นฝั่งชาย-หญิง คู่ตรงกลางคือปู่กับย่าของพ่อ ถัดมาคือพ่อกับแม่ของพ่อ (ปู่และย่าของอ้อยหวาน) ส่วนริมสุดทั้งสองข้างคือพ่อกับแม่ของเจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นน้องชายของปู่ของอ้อยหวาน (อาของพ่อ) ยังก่อน..อย่าเพิ่งงง!

เพราะเรื่องที่จะเล่าต่อนั้นยิ่งน่าสนใจ เอาไปทำหนังชีวิตเรื่องยาวได้เลย

คนคู่ตรงกลางในรูป ปู่กับย่าของพ่อนั้นได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่เมืองไทยนานแล้ว ผู้ชายอีกสองคนที่อยู่ด้านข้างคือลูกชายทั้งสองคนที่เกิดที่เมืองไทย และถูกส่งไปเรียนหนังสือที่เมืองจีนเมื่อตอนรุ่นหนุ่ม ทั้งสองหนุ่มตกหลุมรักและได้ร่วมหอลงโรงกับสาวจีน พ่อของอ้อยหวานเกิดที่เมืองจีน แล้ววันหนึ่งปู่ของอ้อยหวาน (พ่อของพ่อ) ตัดสินใจย้ายครอบครัวกลับมาเมืองไทย โดยทิ้งพ่อ (ของอ้อยหวาน) ไว้กับน้องชายให้เรียนหนังสือที่เมืองจีน พ่อย้ายมาอยู่เมืองไทยเมื่อตอนรุ่นหนุ่ม ส่วนอาของพ่อที่เกิดเมืองไทยนั้นไม่ได้กลับไปเมืองไทยอีกเลย เวลาที่ญาติเมืองจีนไหว้บรรพบุรุษก็ต้องนึกหรือส่งใจเอา เพราะสุสานของปู่และย่าของพวกเขาอยู่ที่เมืองไทย

อ้อยหวานมานั่งคิดเล่นสนุกๆ เอาเองว่า ลูกๆ ของปู่ทุกคนแต่ยกเว้นพ่อ ต่างคิดว่าตัวเองเป็นคนไทย ลูกๆ ของพ่อทุกคนก็ยืดอกบอกได้ว่าตัวเองเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่ลูกๆ ของน้องชายปู่กลับเป็นคนจีน ทั้งที่พ่อของพวกเขาเกิดเมืองไทย และอ้อยหวานก็คิดเอาเองว่าน่าจะเป็นคนไทยเช่นกัน

ถ้าวันหนึ่งเหลนๆ ของอ้อยหวานมานั่งคิดเรื่องบรรพบุรุษ ก็คงจะมึนกว่านี้หลายเท่า เพราะบรรพบุรุษฝ่ายคุณผู้ชายที่บ้าน สืบสาวไปไกลถึงประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเกาะอยู่ทางเหนือของประเทศอังกฤษ และคิดว่าเรื่องราวบรรพบุรุษของเพื่อนๆ ก็คงสนุกสนานตื่นเต้น และมึนไม่แพ้กัน

 

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องฉลองตรุษจีนกันสักที

ตรุษจีนเป็นวันหยุดตามประเพณีของจีนที่สำคัญที่สุด ในประเทศจีน ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า "เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ"เพราะฤดูใบไม้ผลิตามปฏิทินจีนเริ่มต้นด้วยวันลีชุน ซึ่งเป็นวันแรกในทางสุริยคติของปีปฏิทินจีน วันดังกล่าวยังเป็นวันสิ้นสุดฤดูหนาว ซึ่งคล้ายกันกับงานเทศกาลของตะวันตก เทศกาลนี้เริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1  ในปฏิทินจีนโบราณและสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ด้วยเทศกาลโคมไฟ

คืนก่อนตรุษจีนเป็นวันซึ่งครอบครัวจีนมารวมญาติเพื่อรับประทานอาหารเย็นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเรียกว่า ฉูซี่ หรือ "การผลัดเปลี่ยนยามค่ำคืน"เนื่องจากปฏิทินจีนเป็นแบบสุริยจันทรคติ ตรุษจีนจึงมักเรียกว่า "วันขึ้นปีใหม่จันทรคติ"

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย

 

ในหมู่บ้านก็จะมีการตั้งโต๊ะไหว้เจ้าหรือไหว้เทวดากันกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง แต่ละบ้านต้องขนโต๊ะของตัวเองมา และส่วนใหญ่จะเป็นสีแดง เพราะสีแดงเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีและความสุข

 

ของไหว้เจ้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เจดีย์น้ำตาล เจดีย์หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า ความรุ่งเรือง และประสบความสำเร็จ

 

วางขายอยู่ในตลาด มีสองสามขนาดให้เลือก

 

เขาไหว้เจ้ากันหลายวันเชียวละ อย่างวันนี้อ้อยหวานปั่นจักรยานไปทางด้านหลังของหมู่บ้าน เพื่อมุ่งตรงไปยังภูเขา ก็ไปเจอกับการไหว้เจ้าของกลุ่มนี้ วันนี้ของไหว้เจ้าที่แตกต่างไปคือ ใช้ของสดไหว้

 

สดจริงๆ มาทั้งตัวเลย

 

พิธีแห่เจ้า เขาแห่กันอย่างนี้ทั้งวันเลย รูปนี้ค่อนข้างมัว เพราะอ้อยหวานกำลังตั้งท่าหลบประทัด เพราะพอขบวนแห่เจ้ามาถึง แต่ละบ้านก็จะจุดประทัดกันอย่างเมามัน

 

ทั้งเสียงทั้งควัน ดูอย่างกับเกิดสงครามกลางเมือง พอจุดประทัดเสร็จคุณระเบิดขวดก็จุดต่อ เจ้าขวดเล็กๆ ตรงพื้นข้างหน้านั่นแหละ ขวดเล็กแต่เสียงดังมากๆ คงได้ยินไปถึงเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ ท่านจะได้ลงมาอวยพร

 

ถึงตอนนี้ตากล้องคืออ้อยหวานก็วิ่งหาที่หลบแล้ว

 

วันนี้เขาแห่เจ้ากันสามรอบ พอขบวนเจ้าพ้นไป แต่ละคนก็ต้องแขวนประทัดกันอีกรอบ ดูดิ ควันเก่ายังคลุ้งอยู่เลย

 

เสาแขวนประทัดของกลุ่มนี้สูงดีจริงๆ

 

ผลของการจุดประทัด สิบห้าวันสิบห้าคืน ตั้งแต่เช้าตรู่ไปจนถึงเที่ยงคืน

 

ที่หมู่บ้านอื่นขบวนแห่เขาจะจัดหนัก แต่งตัวกันเป็นทีม รูปนี้อ้อยหวานขอยืมจากน้องสาวมา เพราะไม่ได้ไปด้วย เป็นคนที่แพ้ควันบุหรี่ ควันธูป และควันประทัด เวลาญาติๆ ชวน น้องจะชอบตามไปดู แต่อ้อยหวานหนีขึ้นภูเขาดีกว่า

 

อีกวันหนึ่งอ้อยหวานติดตามพ่อไปที่หมู่บ้านบ้านเกิดของย่า พิธีไหว้เจ้าของที่นี่จัดกันอย่างยิ่งใหญ่ เพราะวันนี้เป็นวันสุดท้าย

 

ความหมายของอาหารไหว้เจ้าวันตรุษจีน

ขอบคุณข้อมูลจาก สสส

 

คนไหว้เจ้าก็ไหว้ไป ข้างหลังคนไหว้เจ้าก็เป็นเวทีงิ้ว งิ้วก็เล่นไปด้วย ไม่แน่ใจว่าเล่นให้เจ้าดูหรือเปล่า

 

ไหว้เสร็จก็ถึงเวลาขนกลับบ้านกันละ

 

ดูท่าทางคงจะหนักน่าดู

 

โปรดติดตามอ้อยหวานเล่าเรื่องเมืองจีน ในตอนต่อไป

อ่านแอบดูจีนตอนที่แล้วได้ที่นี่

ตอน 1

ตอน 2

ตอน 3

 

ขอให้เพื่อนๆ มีแต่ความสุข

ขอบคุณค่ะ

อ้อยหวาน

 


Viewing all articles
Browse latest Browse all 244

Trending Articles