Quantcast
Channel: บล็อก อ้อยหวาน
Viewing all articles
Browse latest Browse all 244

ข้ามกำแพงเหล็ก เปิดประตูไม้ไผ่ แหวกม่านผ้าไหม ไปแอบดูจีน 5

$
0
0
หมวดหมู่ของบล็อก: 

บล็อกนี้มาต่อเรื่องการฉลองตรุษจีนแบบต้นฉบับที่หมู่บ้านนอกเมืองซัวเถา ที่ฉลองกันสิบห้าวันสิบห้าคืน เป็นสิบห้าวันสิบห้าคืนที่ได้ยินและได้กลิ่นประทัดกันแต่เช้าตรู่ยันเที่ยงคืน แม้แต่ในหมู่บ้านเล็กๆ ก็ยังยึดถือประเพณีดั้งเดิมกันอย่างเหนียวแน่น ธรรมเนียมการฉลองตรุษจีนที่ทำกันอย่างจริงจัง ไม่ได้สร้างฉาก เพราะไม่รู้ว่าจะสร้างไปให้ใครดู หรือไปหลอกใคร

 

รายละเอียดของการฉลองตรุษจีนแท้ๆ อ้อยหวานขอคัดลอกจาก บุปผาหยกมาให้อ่านกัน ขอขอบคุณมาณ. ที่นี้

15 วันแห่งการฉลองตรุษจีน

วันที่ 1 ของปีใหม่ เป็นการต้อนรับเทวดาแห่งสวรรค์ และโลก หลายคนงดทานเนื้อ ในวันนี้เชื่อกันว่าจะเป็นการต่ออายุ และนำมาซึ่งความสุขในชีวิตให้กับตนเอง

วันที่ 2 ชาวจีนจะไหว้บรรพชน รวมถึงเทวดาทั้งหลาย และจะดีเป็นพิเศษกับสุนัข

วันที่ 3-4 เป็นวันของบุตรเขยที่จะต้องทำความเคารพแก่ พ่อตา แม่ยาย ของตน

วันที่ 5 เรียกว่า พูวู ซึ่งวันนี้ทุกคนจะอยู่กับบ้าน เพื่อต้อนรับการมาเยือนของเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย

วันที่ 6 ชาวจีนจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง-เพื่อนฝูง พร้อมทั้งไปวัดสวดมนต์ เพื่อความร่ำรวย และความสุข    

วันที่ 7 ของตุรุษจีนเป็นวันที่ชาวไร่-ชาวนาชาวจีน นำเอาผลผลิตของตนออกมาทำน้ำที่ทำมาจากผักเจ็ดชนิด เพื่อฉลองวันนี้วันที่เจ็ดถือเป็นวันเกิดของมนุษย์ และอาหารในวันนี้จะเป็น หมี่ซั่ว-กินเพื่อชีวิตที่ยาวนาน และปลาดิบ-กินเพื่อความสำเร็จ    

วันที่ 8 ชาวฟูเจี้ยน จะมีการทานอาหารร่วมกันกับครอบครอบอีกครั้ง และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนทุกคนจะสวดมนต์ของพรจาก เทียนกง เทพแห่งสวรรค์    

วันที่ 9 สวดมนต์ไหว้พระ และถวายอาหารแก่ เง็กเซียนฮ่องเต้    

วันที่ 10-12 เป็นวันของเพื่อน และญาติๆ  ซึ่งเชื้อเชิญมาทานอาหารเย็น

วันที่ 13 ถือเป็นวันที่ควรทานข้าวธรรมดา กับผักดอง ถือเป็นการชำระล้างร่างกาย

วันที่ 14 เป็นวันที่เตรียมงานฉลองโคมไฟ

วันที่ 15 คืนแห่งการฉลองโคมไฟ วันตรุษจีน

ขอบคุณข้อมูลจาก บุปผาหยก

รูปต่างๆ ที่ถ่ายมา อ้อยหวานไม่รู้ว่าเขาไหว้อะไรกันบ้าง เอาเป็นว่าไหว้เจ้าไหว้เทวดก็แล้วกัน

 

นอกจากของการไหว้เจ้า ของไหว้เจ้าต่างๆ และการจุดประทัดที่อ้อยหวานเล่าไว้ในบล็อกก่อน การฉลองตรุษจีนที่ครบสมบูรณ์แบบตามต้นฉบับแท้ๆ จะต้องมีสิ่งของ และกิจกรรมอีกหลายอย่าง ไม่ใช่พอรับเงินซองแดงแล้วก็จ่ายหรือเที่ยวกันลูกเดียว

กิจกรรมที่เห็นทำกันทุกบ้านเรือนคือการติดกระดาษไว้หน้าประตูบ้านเรียกว่า ‘ตุ๊ยเลี้ยง’ หรือ ชุนเหลี่ยน เป็นคำกลอนอวยพรปีใหม่ และแน่นอนต้องเขียนบนกระดาษสีแดง ที่นี่เขาติดแล้วติดเลย จะอยู่คู่บ้านไปจนถึงปีหน้า

 

ช่วงนี้เวลาเดินไปไหนมาไหนหน้าประตูบ้านหรือร้านค้าเกือบทุกบ้านจะมีบันไดพาดอยู่ เพราะต้องเลาะตุ๊ยเลี้ยงของปีก่อนออก ทำความสะอาดประตูบ้านและภายในบ้านให้สะอาดหมดจด

 

จากนั้นก็ไปหาซื้อตุ๊ยเลี้ยงคู่ใหม่มาติด ในหมู่บ้านอ้อยหวานเห็นมีขายอยู่หลายเจ้า พ่อเล่าให้ฟังว่า คนที่ลายมือสวย จะมานั่งเขียนตุ๊ยเลี้ยงตามสั่งกัน แล้วแต่ลูกค้าจะชอบคำอวยพรแบบไหน

 

ตุ๊ยเลี้ยง จะมากันสามแผ่นกระดาษ กระดาษยาวสองแผ่นติดข้างประตู อีกแผ่นติดขวางบนประตู

 

อ้อยหวานขอคัดลอกข้อมูลของตุ๊ยเลี้ยง จากบล็อกคุณ beewoodsมาให้อ่านเสริมความรู้กัน เธอเขียนได้น่าอ่าน ขอบคุณค่ะ

การเขียนกลอนคู่ด้วยพู่กันจีนเป็นศิลปะที่สืบทอดกันมาแต่โบราณที่มี เอกลักษณ์มากที่สุดอย่างหนึ่งของจีนเลยนะ ในปีค.ศ. 2009 องค์การยูเนสโกได้จัดกิจกรรมศิลปะพู่กันจีนไว้ในบัญชีผลงานมรดกทางวัฒนธรรม ที่ไม่ใช่วัตถุที่มีตัวตน โดยได้รับการรับรู้และยอมรับจากทั่วโลก วรรณคดีกลอนคู่ก็เป็นศิลปะอีกรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษ เนื่องจากเป็นการผสมผสานระหว่างวรรณคดีและศิลปะการเขียนพู่กัน อย่างมีมิติและลงตัว

สำหรับการเขียนและติดกลอนคู่เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นิยมทำในช่วงตรุษจีน เป็นกิจกรรมที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก และถือเป็นการต้อนรับสิ่งใหม่ๆที่ดีๆเข้ามาในชีวิต หยิงเหลียนหรือที่รู้จักกันในชื่อตุ้ยเหลียน (ตุ่ยเลี้ยง – แต้จิ๋ว) เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีน  เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่รุ่งเรืองที่สุดในยุคราชวงศ์ชิง ตามประเพณีแล้วเมื่อถึงวันปีใหม่หรือตรุษจีนจะต้องเปลี่ยนชุดใหม่เพื่อความ เป็นศิริมงคล คนจีนนิยมติดตุ้ยเหลียนไว้ที่ทางเข้าบ้าน , ประตูหน้าต่างหรือกลางโถงรับแขก โดยกลอนทั้งสองข้างต้องสัมผัสกันและติดขนานกันเป็นคู่ คนไทยเชื้อสายจีนบางบ้านนิยมติดกลอนข้างละ 4 อักษร คู่หนึ่งรวมกันเป็น 8 อักษร แปดหรือปาในภาษาจีนเป็นเลขมงคล พ้องกับคำว่า ”ฟา” คือความเจริญรุ่งเรืองร่ำรวยเงินทอง นอกจากใช้ในช่วงตรุษจีนแล้ว ตุ้ยเหลียนยังสามารถใช้ในโอกาสต่างๆ เช่น งานแซยิด, วันเกิด. มงคลสมรสหรือแม้แต่งานศพได้อีกด้วยนะเออ

ปัจจุบันการเขียนภาษาจีนในบางครั้งจะได้รับอิทธิพลจากตะวันตกเปลี่ยนมา เขียนแบบอ่านจากซ้ายไปขวา แต่สำหรับตุ้ยเหลียน ยังคงรักษาวิธีแบบเดิมๆไว้อย่างเคร่งครัด คือการเขียนและอ่านจากบนลงล่าง และขวาไปซ้าย

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการฉลองตรุษจีนคือ โคมไฟ ตามท้องถนน ในตรอกซอกซอย จะมีโคมไฟตรุษจีน ถนนบางสายจะยกกันมาเป็นทีมเลย พร้อมสายรุ้ง และธง ปลุกใจ

 

เขาจะติดโคมไฟกันอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ได้ทำกันเล่นๆ เลย ถือกันว่าโคมไฟเป็นสัญลักษณ์แห่งสิริมงคล

 

และตามบ้านจะต้องมีอย่างน้อยบ้านละดวง  โคมจีนเป็นเครื่องชี้นำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มองเห็นบ้านที่ห้อยโคมจีนก่อน และช่วยให้คนในบ้านนี้มีความสุขความเจริญความร่ำรวย และยังหมายถึง แสงสว่างโชติช่วงชัชวาล

 

แต่อ้อยหวานชอบแบบทำมือแบบนี้ สวยดีคลาสสิคดีจัง

 

อาเฮียคนนี้นั่งทำนั่งเขียนไปขายไปอยู่ในตลาด โคมไฟที่สานด้วยไม้ไผ่หุ้มกระดาษแก้ว แล้วเขียนตัวอักษรแห่งความโชคดีด้วยสีแดง ในโคมจะมีที่สำหรับห้อยตะเกียงน้ำมันเล็กๆ

 

วันสุดท้ายเป็นวันแห่โคมไฟ ในตอนกลางคืน หนุ่มๆ ของหมู่บ้านจะรวมตัวกัน ถือโคมไฟ แล้วเดินวนไปทั่วหมู่บ้าน เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายต่างๆ ให้ออกไปจากหมู่บ้าน อ้อยหวานไม่ได้ออกไปดูหรอกนะ เพราะจุดประทัดกันแบบทิ้งทวนเลย รูปนี้ยืมมาจากน้องสาวไปดูที่เขาแห่โคมกันที่บ้านญาติหน้าตลาด

 

ถ่ายรูปตอนญาติผู้เป็นอัศวินที่กล้าหาญทั้งหลาย กลับมาจากการขับไล่ตัวร้ายออกไปจากหมู่บ้าน

 

หลังจากวันแห่โคมไฟแล้ว งานเลี้ยงก็ต้องเลิกลา ญาติทั้งหลายก็เริ่มทยอยกันกลับบ้าน ส่วนใหญ่จะอยู่กันที่เมืองกวางเจา ที่บ้านอื่นๆ ในหมู่บ้านก็เช่นกัน คงจะกลับไปกันหมด เพราะวันต่อมาหมู่บ้านก็เงียบเหงาไปเลย กลุ่มของเราอยู่ต่ออีกสองสามวัน แล้วก็ถึงเวลาโบกมืออำลาเช่นกัน

 

บล็อกหน้าจะเป็นบล็อกสุดท้ายของการแอบดูจีน อ้อยหวานจะพาไปเดินตลาด ชมร้านค้า ข้าวของ และผู้คน อย่าลืมแต่งตัวรอนะ เราไปแอบดูตลาดจีนกัน

อ่านแอบดูจีนตอนที่แล้วได้ที่นี่

ตอน 1

ตอน 2

ตอน 3

ตอน 4

ขอให้เพื่อนๆ มีแต่ความสุข

ขอบคุณค่ะ

อ้อยหวาน


Viewing all articles
Browse latest Browse all 244

Trending Articles