ก้าวเท้าออกไป ก้าวเท้าเดินออกไปเถิด ฉันขอร้อง
ออกไปสัมผัสความงดงามของธรรมชาติ
ไปตกตลึงพรึงเพริด กับสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
ด้วยจิตใจอันอยากรู้อยากเห็นของเด็กน้อย
Go out, go out I beg of you
And taste the beauty of the wild.
Behold the miracle of the earth
With all the wonder of a child.
-Edna Jaques นักเขียนชาวแคนนาดา
ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน บนจุดใดของโลกนี้ ทุกๆ สถานที่ ต่างก็มีเรื่องราว มีประวัติ มีความงาม ที่จะบอกกล่าว และนำเสนอแก่นักเดินทาง การอ่านหนังสือ ดูหนัง ดูทีวี ที่เกี่ยวกับสถานที่แต่ละแห่ง มันเป็นเพียงอาหารว่างลองท้อง แต่การพาตัวเองออกไปที่นั่น ไปสัมผัส จมแช่ กับบรรยากาศ ความงดงาม ที่แตกต่าง เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น คือการได้ทานอาหารจานหลัก แถมของหวานครบสูตร
การปั่นจักรยานเที่ยว ที่ไหนๆ ก็เที่ยวได้ มีเวลาน้อย ก็เที่ยวแถวบ้าน มีเวลามาก ก็ไปเที่ยวแถวบ้านคนอื่นไกลออกไป ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ต่างประเทศ หรือต่างทวีป ไปดูสิว่าเพื่อนร่วมโลกของเรา เขากินอยู่กันอย่างไร ทำสวนปลูกต้นไม้อะไร มีวิถีชีวิตเยี่ยงไร อย่ามัวนอนแช่จมอยู่กับบ้าน ก้อ..ชีวิตคือการเดินทาง
จากสงขลาก็ถึงเวลาปั่นย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของทริปนี้ เรามีเวลาสามวัน และไม่รีบร้อนไปไหน เพื่อหลีกเหลี่ยงถนนสายหลัก เราจึงกลับไปที่ท่าแพขนานยนต์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงปลายสุดของทะเลสาบสงขลาอีกครั้ง บอกลาเมืองสองทะเล ขึ้นแพ ข้ามกลับไปยังฝั่งอำเภอระโนด แล้วปั่นไปบนถนนสายเล็กสายน้อย ผ่านเทือกสวนไร่นา
แถวนี้มีชื่อว่า บ้านมะม่วงงาม งามจริงๆ ห้อยระย้าอย่างนี้ไปตลอดทาง
แล้วเราก็ข้ามสะพานไปยังเกาะนางคำ หนึ่งในเกาะที่ใหญ่ที่สุดในทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นเขตของจังหวัดพัทลุง เมืองมโนราห์
เส้นทางที่เราเลือกปั่น ต้องข้ามสะพานกันหลายแห่ง จากเกาะนางคำข้ามไปยังเกาะเล็กๆ ที่ไม่มีชื่อ จากนั้นก็ข้ามไปยังเกาะหมาก พื้นที่ส่วนใหญ่ของทั้งสองเกาะจะเป็นสวนปาล์ม ทำให้มีรถบรรทุกปาล์มคันโตๆ วิ่งผ่านไปมาอยู่หลายคัน แต่ทุกคันก็ฝึกมาดี เป็นมิตรกับจักรยาน ชลอความเร็วเมื่อวิ่งผ่านเรา คงเป็นเพราะแถบนี้เขากำลังพัฒนาให้เป็นพื้นที่ปั่นจักรยานท่องเที่ยว การท่องเที่ยวสีเขียว เพื่อโลกที่น่าอยู่
ภาพที่มองเห็นจากที่พักของเรา รีสอร์ทริมทะเลสาบสงขลา อำเภอปากพะยูน พัทลุง อ้อยหวานคิดว่าคงเป็นเกาะสี่ เกาะห้า
**********
หมู่เกาะสี่ เกาะห้า เป็นหมู่เกาะหินปูนซึ่งตั้งอยู่ในทะเลสาปสงขลาตอนใน ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน อยู่ห่างจากเกาะหมากไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1.6 กม. สาเหตุที่เรียกว่า "เกาะสี่เกาะห้า"เนื่องจากเมื่อมองจากทิศใต้และทิศเหนือจะเห็นเป็นเกาะสี่เกาะ แต่ถ้ามองจากทิศตะวันตกจะเห็นเป็นเกาะห้าเกาะ จึงเรียกว่า เกาะสี่เกาะห้า
หมู่เกาะสี่เกาะห้า ประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะใหญ่มากมาย เช่น เกาะท้ายถ้ำดำ เกาะร้านไก่ เกาะรูสิม เกาะหน้าเทวดา หรือเกาะมวย เกาะกันตัง เกาะป้อย เกาะตาใส เกาะยายโส เกาะกระ เกาะราบ ซึ่งเป็นดินแดนประวัติศาสคร์ ธรรมชาติสมบูรณ์ บริเวณทะเลสาบพัทลุง-สงขลา-นครศรีธรรมราช เป็นที่ก่อกำเนิดชุมชน อารยธรรม ศิลปวัฒนธรรมนับพันปี และสืบเนื่องมาเป็นวิถึชีวิตปัจจุบัน ผสมผสานกับวัฒนธรรมสมัยใหม่
นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมถ้ำรังนกนางแอ่นธรรมชาติได้ และมีเรือนำชมเกาะต่างๆ และมีที่พักรองรับนักท่องเที่ยวบนเกาะ ติดต่อที่โทร. 0 9812 1276, 0 1599 7778
ติดต่อสอบถาม:ททท. สำนักงานหาดใหญ่ 0 7423 1055, 0 7423 1055, 0 7423 8518
ขอบคุณข้อมูล และอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.touronthai.com/article/3340
เช้าวันรุ่งขึ้น เราปั่นไปบนถนนเลียบทะเลสาบเกือบตลอดสาย ป้ายข้างถนนที่เป็นรูปวัวตัวโตแบบนี้ หาดูไม่ได้ง่ายๆ นะจ้ะ
แถบนี้เขานิยมเลี้ยงวัวชน เช้าๆ อย่างนี้ก็ต้องพามาออกกำลัง เดินเรียงแถวกันมากมายหลายคนและหลายตัว
อยากแวะที่ไหน ก้อแวะได้ตามใจฉัน
วิวเกาะต่างๆ ในทะเลสาบสงขลา
ใกล้ถึงที่พัก บริเวณที่คลองปากประ ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา
เราพักค้างคืนกันที่นี่ ถูกใจมากมาย มีร้านอาหารแสนอร่อย เงียบสงบ ราคาพอเหมาะ คืนนั้นพายุเข้า แต่เรานอนหลับสบาย ไม่มีน้ำฝนรั่วซึม
เช้าวันรุ่งขึ้นฟ้าฝนไม่เป็นใจ สำหรับชมวิวพระอาทิตย์ขึ้น แต่ไม่เป็นไร เรายังพักอยู่ที่นี่อีกหนึ่งคืน แสงหม่นหมองแบบนี้ ก็ดูสวยไปอีกแบบหนึ่ง
ถึงฝนจะตก แต่ฟ้าไม่ร้อง หลังอาหารเช้า สองจักรยานก็ออกทัวริ่ง วันนี้ไม่เร่งรีบ ไม่มีกระเป๋า เพราะเราจะกลับมานอนที่เดิม ทัวร์วันนี้อาจจะตั้งชื่อได้ว่า ทัวร์ลุยโคลน เพราะถนนหลังที่เราซอกแซกผ่านไป ส่วนใหญ่จะเป็นถนนดินลูกรัง ได้ฝนนิดๆ หน่อยๆ ก็เละ เส้นทางวิ่งซอกแซกผ่านนาข้าว สวนปาล์ม และหมู่บ้านน้อยใหญ่
เห็นยายนั่งสานกระจูด ก็แวะชมอยู่พักใหญ่
*********
กระจูด หรือ จูด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Lepironia articalata) เป็นพันธุ์ไม้จำพวก "กก" (Sedge) ลักษณะลำต้นกลมสีเขียวอ่อน ดินสอดำ สูงประมาณ 1 - 2 เมตร ออกดอกเป็นกระจุกแน่นคล้ายดอกกระเทียมที่ข้างลำต้นใกล้ยอดกระจุกหนึ่ง แต่มีช่อดอกปลายลำต้นอีกหนึ่งช่อซึ่งมีใบเล็กประกอบช่อด้วย กระจูดชอบขึ้นในพื้นที่น้ำขังซึ่งเรียกว่าโพระหรือพรุ มีถิ่นกำเนิดจากทางเกาะมาดากัสการ์ มอริเซียส ลังกา สุมาตรา แหลมมาลายู และหมู่เกาะต่าง ๆ ในแหลมมาลายู อินโดจีนตอนริมฝั่งทะเล ฮ่องกง บอร์เนียว ตลอดถึงออสเตรเลีย ริมฝั่งตะวันออก
การใช้ประโยชน์
ต้นกระจูด นำไปฝึ่งแดดให้แห้งสนิท สามารถนำมาผลิตงานจักสานเป็น เสื่อปูรองนั่งที่เรียกกันว่า 'เสื่อกระจูด'หรือ 'สาดกระจูด'โดยการสานเสื่อกระจูดโดยทั่วไปนิยมสานลวดลาย มาตรฐาน คือ ลายขัดสอง หรือลายขัดสาม และมีการพัฒนาดัดแปลงลวดลาย เช่น ลายลูกแก้ว ลายดาวล้อมเดือน ลายดอกจัทนทร์ ลายก้านต่อดอก ลายโคม ลายแก้วเนื่อง ลายแก้วบ้านดอน ลายตัวหนังสือ เป็นต้น และมีการทำผลิตภัณฑ์เช่น สายกระเป๋าเครื่องใช้ต่าง ๆ ใช้ทำใบเรือ ทำเชือกผูกมัด
แหล่งผลิตที่สำคัญ อยู่ที่หมู่บ้านทะเลน้อยจังหวัดพัทลุง หมู่บ้านบ่อกรัง จังหวัดสุราษฎร์ธานี หมู่บ้านสะกอม จังหวัดสงขลา หมู่บ้านทอนทอน จังหวัดนราธิวาส ปัจจุปันมีการผลิตจำหน่ายมาก ใน ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช
ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อันนี้คงจะเป็นกระเป๋าใบสวย ในอนาคต พัทลุงมีแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องจักรสานจากกระจูดอยู่หลายแห่ง แหล่งใหญ่คงจะเป็นบริเวณหน้าอุทยานนกน้ำทะเลน้อย น่าจะมีใครเอาไปปูพื้นบ้าน เหมือนบ้านญี่ปุ่นที่เขาใช้เสื่อทาทามิ
เจอต้นนี้ก็ต้องหยุดอีกครั้ง เป็นต้นไม้ที่ทำให้อ้อยหวานหวลระลึกถึงอดีตอันไกลโพ้น สมัยเด็กๆ ชอบทานลูกโทะ? ลูกไม้ที่ไม่มีขายในตลาด อยากกินต้องลุยทุ่ง ลุยดง หาเก็บกินเอาเอง ลูกมีลักษณะคล้ายบลูเบอรี่ของฝรั่ง แต่ผิวมีขนเล็กๆ ไม่เรียบเหมือนบลูเบอรี่ เสียดายที่ไม่มีลูกไหนสุกให้เก็บกินได้เลย
*****หมายเหตุ น้องบัวริมท้วงมาว่าเจ้าต้นนี้ของอ้อยหวานไม่ใช่ต้นโทะ ทำให้อ้อยหวานไปสืบสวนศึกษาในเน็ทแล้วคิดว่า บัวริมพูดถูก ต้นมันคล้ายกัน ดอกก็เหมือนๆ ลูกก็ใกล้เคียง เจ้าดอกข้างบนมีหลายชื่อ
************
โคลงเคลงหรือ สำเหร่ (Malabar melastome (Indian rhododendron)) เป็นไม้ดอกล้มลุกประเภทใบเลี้ยงคู่กิ่งสี่เหลี่ยมมักมีขนปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยวคู่ตรงข้าม เรียงแบบสลับน้อย เส้นใบ 3-9 ออกจากจุดเดียวกันตรงฐานใบ แล้วเบนเข้าหาปลายใบ เส้นใบย่อยเรียงแบบขั้นบันได ไม่มีหูใบ ออกดอกเป็นช่อ สมบูรณ์เพศ มีสมมาตรตามรัศมี กลีบเลี้ยง 3-6 (ส่วนใหญ่ 5) กลีบดอก 5 เรียงเกยซ้อนกันในดอกอ่อน เกสรเพศผู้ (ก้านชูอับละอองเรณู) มีประมาณ 10 เกสรเรียงเป็น 2 วงและมีรยางค์ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ผลเมื่อแก่เปลือกจะแห้ง และแตกออก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก มีสรรพคุณเป็นยาพื้นบ้าน แก้คอพอก แก้อาเจียนเป็นเลือด และถ่ายเป็นเลือด รากใช้เป็นยา แก้ร้อนในกระหายน้ำ
ชื่อท้องถิ่น
- กะดูดุ (มลายู-ปัตตานี)
- กาดูโด๊ะ (มลายู-สตูล, ปัตตานี)
- โคลงเคลงขี้นก, โคลงเคลงขี้หมา (ตราด)
- ซิซะโพะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
- ตะลาเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
- เบร์, มะเหร, มังเคร่, มังเร้, สาเร, สำเร (ภาคใต้)
- มายะ (ชอง-ตราด)
- อ้า, อ้าหลวง (ภาคเหนือ)
ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นาข้าวเขียวขจี นี่ขนาดต้นเดือนเมษยน ทางใต้ยังมีฝนหลงฤดู
เช้าของอีกวัน เราก็ได้ชมการแสดงอันตระการตาของธรรมชาติ แสงสียามเช้าอันงดงามยิ่งนัก
สายหน่อยก็เริ่มมีชาวบ้านมาจับจองยอ หาปลาหากุ้ง ที่จริงเขามีบริการนั่งเรือออกไปชมพระอาทิตย์ และดูนกกันในตอนเช้า แต่อ้อยหวานไม่นิยมเรือหางยาว มลพิษทางเสียง อยากบอกว่าเกือบได้ตำแหน่งเรือที่มีเสียงดังมากที่สุด ลำก็ไม่ใหญ่โต แต่เสียงใหญ่เกินตัวมากมาย ไปถึงไหน ความสงบแตกกระจุยกระจาย
เที่ยงของวันนั้น ท่านแม่และน้องสาวเอารถมารับเรากลับบ้าน ก็ต้องเก็บภาพเป็นที่ระลึกกันหน่อย แถมแวะทานอาหารกลางวันแกล้มวิวงามๆ กันด้วย ขอบคุณมากค่ะ
หลังจากวันเช็งเม้งหรือวันไหว้บรรพบุรุษ ช่วงเทศกาลที่อ้อยหวานห่างหายไปนานหลายสิบปี เราก็บอกลาพ่อแม่ พี่น้อง และจักรยานทั้งสองคัน บินลัดฟ้าสู่แดนอาทิตย์อุทัย เพราะอ้อยหวานมีนัดไว้กับหัวใจ (อีกแล้ว)
ทริปปั่นจักรยานรอบทะเลสาบสงขลา เท่าที่เวลาอำนวย แม้จะไม่ได้ปั่นตรงทะเลสาบส่วนล่าง แต่เราก็ได้ชมทั้งอ่าวไทย และทะเลสาบ ชมความงามของธรรมชาติ และวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น
หมุนล้อออกไป หมุนล้อออกไปเถิด ฉันขอร้อง
ออกไปสัมผัสความงดงามของธรรมชาติ
ไปตกตลึงพรึงเพริด กับสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
ด้วยจิตใจอันอยากรู้อยากเห็นของเด็กน้อย
โปรดติดตามอ้อยหวานเล่าเรื่อง “ก้าวเท้าที่นำไป ” ในตอนต่อไป
อ่าน “ก้าวเท้าที่นำไป ” ตอนแรก
ก้าวเท้าเดิน..ตามเสียงเรียกร้องของหัวใจ
สองล้อเที่ยวชมวิถีชีวิตเมืองคอน 1
สองล้อเที่ยวชมวิถีชีวิตเมืองคอน 2
ขอให้เพื่อนๆ มีแต่ความสุข
อ้อยหวาน