หัวหินคืนหนึ่งนั้น ติดตรึงใจฉัน
จำไว้มั่นไม่อาจเลือน อยู่กันสองคนเป็นเพื่อน
เปรียบเสมือนอยู่เมืองสวรรค์ แดนวิมานอันสุขสบาย
น้ำคำเธอบอกฉัน ใต้โคมสวรรค์
คืนนั้นเองบนหาดทราย ฝากคำสัญญาไม่คลาย
หากหัวหินไม่สิ้นหมดทราย เธอมิคลายจากฉัน
บัดนี้ รักนั้นมาสลาย หาดทรายที่เราเคยสุขสันต์
ยามรักเราต้องมาเปลี่ยนแปลงหมดพลัน
ยิ่งมองแล้วยิ่งหวั่น พรั่นใจหนักหนา
หัวหินไม่สิ้นทราย แต่รักมาหาย
คงเหลือทรายดูเกลื่อนตา ผิดคำสัญญาเธอว่า
วาสนาช่างสุดอับจน จึงพบคนหลอกลวง
เพลงหัวหินไม่สิ้นทราย
คำร้อง - ทำนอง : นคร มังคลายน
ขับร้อง : สุเทพ วงศ์กำแหง
หัวหิน..ไม่สิ้นทราย คำนี้คงจะเป็นความจริง และที่จริงแท้พอๆ กันคือ หัวหิน..ไม่เคยสิ้นเสน่หา สามารถพิสูจน์ได้จากจำนวนโรงแรม ที่พัก ตลาด และนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยกขบวนกันมานอนอาบแดด และขนเงินถุงเงินถังมาใช้จ่ายที่หัวหิน เวลาจะผ่านไปกี่สิบปี หัวหินก็ไม่เคยตกเทรนด์ มีแต่จะฮิตติดอันดับต้นๆ
สถานที่เที่ยวชมของหัวหินมีมากมายหลายแห่ง แต่ที่อ้อยหวานและคุณผู้ชายแวะไปชมมีอยู่น้อยแห่ง เหตุผลคือเราสองคนชอบปั่นจักรยานเที่ยว แต่หัวหินไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะแก่การปั่นจักรยาน ถนนหนทางมีรถเยอะมากๆ วันแรกเราต้องทิ้งจักรยานไว้ที่บ้าน แล้วขึ้นรถสองแถวแทน สถานที่แห่งแรกที่เราแวะไปคือ สะพานปลา ซึ่งดูทรุดโทรมมาก และไม่มีเรือมาขึ้นปลาเลยสักลำ สงสัยไปขึ้นที่ชะอำกันหมด
แต่ที่ขึ้นแน่ๆ คือ ดวงตะวัน
หลังจากสะพานปลา เราก็เดินไปถามทางไป เพราะไม่มีแผนที่ ไปยังจุดหมายที่สองของเช้าวันนั้น สถานีรถไฟหัวหิน หนึ่งในสถานีรถไฟที่สวยงามและเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย
อาคารสถานีรถไฟหัวหินที่เห็นในปัจจุบัน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2469 โดยพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการรถไฟแห่งกรุงสยาม เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ อิทธิพลจากรูปแบบสถาปัตยกรรมวิคทอเรีย ทาสีด้วยโทนครีมตัดกับสีแดง ตัวอาคารมีลวดลายสวยงามประดับเสาค้ำยัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 สมัยพันเอกแสง จุลจาริตต์ เป็นผู้ว่าการรถไฟฯ ได้นำอุปกรณ์ก่อสร้างของพลับพลาสนามจันทร์ ซื่งเป็นพลับพลาจตุรมุขสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เดิมตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม มาปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่หัวหินเพื่อเป็นที่ประทับขึ้นและลงรถไฟของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การก่อสร้างนี้ใช้ช่างฝีมือคนไทยล้วน และได้มีการทำพิธีเปิดพลับพลาซึ่งได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ” เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2517 โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นองค์ประธานเปิดพิธีพลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นงานสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าและเป็นเอกลักษณ์ของสถานีรถไฟแห่งนี้ก็ว่าได้
ขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (Tourism Thailand)
“พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ”
บรรยากาศเก่าๆ ที่สถานีรถไฟหัวหิน
ห้องจำหน่ายตั๋วรถไฟ
แล้วอ้อยหวานก็มาเจอภาพนี้
‘ขอพระองค์ทรงพระเจริญ’
เย็นวันนั้นเราขึ้นรถสองแถวกลับไปที่ใจกลางหัวหินอีกครั้ง เพื่อไปเดินเที่ยวตลาดและไปกินอาหารทะเล ตลาดโต้รุ่งหัวหิน หรือ ไนท์มาร์เก็ต ที่ฝรั่งเขาเรียกกัน
ตลาดโต้รุ่งหัวหินมีข้าวของ ทั้งเสื้อผ้า ของโชว์ และของกิน ผู้คนล้นหลาม ทำให้ถ่ายรูปได้ลำบากมาก
ร้านอาหารทะเล คนแน่นเช่นนี้ทุกร้าน เราสั่งอาหารทะเลเผามาหนึ่งถาด ซึ่งอร่อยมาก สดจริงๆ เหมือนเพิ่งขึ้นมาจากทะเล
ไม่ไกลจากตลาดโต้รุ่งจะมีตลาดอีกแห่งที่มีบรรยากาศแตกต่างกับตลาดโต้รุ่งอย่างสิ้นเชิงคือ ตลาดฉัตรศิลา เป็นตลาดที่มีกลิ่นอายเก่าๆ น่าเดินมาก
ตลาดฉัตรศิลาได้มีการเนรมิตบังกะโลไม้หลังเก่าอายุหลายสิบปี โดยปรับแต่งชั้น 2 ให้เป็นแกลเลอรีจัดแสดงภาพถ่ายขาวดำหาชมยาก ซึ่งแต่ละภาพได้บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และความเป็นมาของหัวหินในอดีต รวมถึงข้าวของเครื่องใช้เก่าๆมากมาย ตลาดนัดฉัตรศิลานี้ได้แบ่งออกเป็น 2 บริเวณหลักๆด้วยกัน ได้แก่ บริเวณแรก มีลักษณะเป็นบ้านโบราณเก่าแก่ 2 ชั้น ไต้ถุนสูงมีด้วยกันจำนวน 5 หลังคาที่สร้างอยู่ใกล้ๆกัร โดยมีระเบียงไม้เป็นทางเดินเชื่อมเข้าหากัน โดยในสมัยก่อนเมื่อปี พ.ศ. 2502 บริเวณตลาดฉัตรศิลาแห่งนี้ เดิมเป็นพื้นที่บ้นพักตากอากาศแบบบังกะโลไว้สำหรับให้ข้าราชการได้เช่าพักผ่อนอยู่อาศัยกัน หลังจากนั้นต่อมาเมื่อเริ่มมีความทันสมัยเข้าสู่ท้องที่หัวหินแห่งนี้ซึ่งเป็นช่วงที่มีรีสอร์ทและที่พักริมทะเลเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากราวกับดอกเห็ดจึงทำให้บังกะโลแห่งนี้ได้รับความสนใจลดน้อยลงไปจนถูกทิ้งร้าง ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้จึงได้มีการปรับปรุงให้มีความสวยงามขึ้นและปรับเปลี่ยนให้เกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของเมืองหัวหิน สำหรับในอีกบริเวณหนึ่งของตลาดฉัตรศิลานั้นเป็ยบริเวณพื้นที่ของเหล่าสาวกนักช็อบทั้งหลายที่จะได้เพลิดเพลินไปกับสินค้าที่วางจำหน่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าพื้นเมือง ของที่ระลึก ของแฮนด์เมด เสื้อผ้า ของใช้ อุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์เล็กๆน้อยๆ อุปกรณ์ตกแต่งบ้านจุกจิก เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (Tourism Thailand)
อีกมุมหนึ่งของตลาดฉัตรศิลา
วันรุ่งขึ้นก็ถึงเวลาไปสำรวจมุมอื่นของหัวหิน มุมที่มีคนน้อยๆ อีกฝั่งหนึ่งของถนนเพชรเกษมที่ไม่ใช่ฝั่งเลียบชายหาด แต่เป็นฝั่งเลียบชายชายเขา ปั่นจักรยานไปเรื่อยๆ แบบไม่กลัวหลง
แล้วไปเจอกับนี่
ดูกันชัดๆ นี่คือส่วนน้อยที่ล้นออกมานอกรั้ว ในรั้วก็กว้างใหญ่มีเต้นท์ปลูกผักแบบนี้มากมายหลายเต้นท์ แต่เขาห้ามคนนอกเข้า หาชื่อเสียงเรียงนามก็ไม่มี รู้อย่างเดียวว่าคงปลูกส่งโรงแรมต่างๆ ในหัวหิน
บางครั้งเราก็หยุดแวะทักทายเจ้าถิ่น
เราใช้เวลาที่เหลือกันที่นี่
ขอขอบคุณน้ำมิตรน้ำใจของเพื่อนเก่า T&N อีกครั้ง บ้านเพื่อนสบายจริงๆ
โปรดติดตามอ้อยหวานเล่าเรื่องชีวิตคือการเดินทาง ในตอนต่อไป
อ่านชีวิตคือการเดินทาง ตอนแรกๆ ได้ที่นี่่ค่ะ
ชีวิตคือการเดินทาง ตอน ทำไมต้องท่องเที่ยว
ชีวิตคือการเดินทาง ตอน ฉันรักสวนลุม
ชีวิตคือการเดินทาง ตอน มีรักที่ราชบุรี
ชีวิตคือการเดินทาง ตอน ดับเบิ้ลดีที่อัมพวา
ชีวิตคือการเดินทาง ตอน ทะเล หาดทราย สายลม และสองเรา
ขอให้เพื่อนๆมีแต่ความสุข
ขอบคุณค่ะ
อ้อยหวาน